คำคมของอดัม สมิธ (Adam Smith Quotes)

คำคมของอดัม สมิธ (Adam Smith Quotes) - Assalamu'alaikum sahabat WirasNews di manapun berada. Selamat datang di blog pribadi ini. Oke, artikel yang sedang sahabat baca saat ini berjudul คำคมของอดัม สมิธ (Adam Smith Quotes), artikel ini ditulis dengan penuh perasaan, dan semoga sahabat semua dapat memahami informasi yang disajikan di dalamnya. Oh iya, kata kunci untuk memahami isi artikel ini adalah Adam Smith, quotes, The Wealth of Nations, คำคม, อดัม สมิธ, selamat membaca.
Judul : คำคมของอดัม สมิธ (Adam Smith Quotes)
link : คำคมของอดัม สมิธ (Adam Smith Quotes)


คำคมของอดัม สมิธ (Adam Smith Quotes)

รูปภาพของอดัม สมิธ
Photo by Wikimedia Commons (CC0 1.0)

คำคมจากหนังสือความมั่งคั่งของประชาชาติ (The Wealth of Nations)

คำคมที่อยู่ในเว็บนี้ เป็นประโยคคำคม ที่ตัดทอนบางส่วนออกมาจากหนังสือ The Wealth of Nations ฉบับภาษาไทย ที่เจ้าของบล็อกแปลเอง

เล่มที่ 1

I.1.1
สิ่งที่ทำให้กำลังการผลิต (productive powers), ทักษะ (skill), ความชำนาญ (dexterity), และการตัดสินใจ (judgment) ของแรงงานมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ล้วนเป็นผลมาจากการแบ่งงานกันทำ (division of labour)

I.1.4
ผลอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาภายหลังจากการแบ่งงานกันทำก็คือ มันได้ทำให้เกิดการแตกธุรกิจและการจ้างงานให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งการแตกธุรกิจและการจ้างงานให้มีความหลากหลายตรงนี้นี่เอง ที่จะส่งผลให้ประเทศมีความก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมสูงสุด

I.2.1
การแบ่งงานกันทำที่ได้สร้างประโยชน์เป็นอย่างมากนั้น ไม่ได้เกิดมาจากภูมิปัญญาของมนุษย์ ที่หยั่งรู้ว่าเมื่อทำแล้ว มันจะนำมาซึ่งความมั่งคั่ง แต่การแบ่งงานกันทำนั้น มันเป็นสิ่งที่ค่อย ๆ ถือกำเนิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ จากลักษณะนิสัยของมนุษย์ที่มักจะมีแนวโน้มในการซื้อขาย (truck) , ต่อรอง (barter) , และแลกเปลี่ยน (exchange)  กันตลอดเวลาอยู่แล้ว

I.2.2
... อาหารเย็นของเรานั้น ไม่ได้เกิดจากความการุณย์ของพ่อค้าเนื้อ, คนทำเบียร์, และคนทำขนมปัง แต่มันเกิดจาก การที่พวกเขาเหล่านั้นรักตัวของเขาเอง สิ่งที่เราพูดกับเขา เราไม่ได้พูดถึงความมีมนุษยธรรมของเขา แต่เราพูดถึงความรักตัวเองของเขา หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ เราไม่ได้พูดกับเขาเกี่ยวกับความจำเป็นของตัวเรา แต่เราพูดกับเขาเกี่ยวกับผลประโยชน์ของตัวเขานั่นเอง

I.2.4
เป็นที่ว่ากันว่า การที่แต่ละคนมีพรสวรรค์ตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน ในความเป็นจริงนั้น มันไม่ได้มีสาเหตุมาจากธรรมชาติได้กำหนดไว้แล้ว ตั้งแต่ในวัยเด็กจนถึงช่วงโตเต็มวัย แต่มันเป็นผลมาจากการแบ่งงานกันทำ

I.2.5
จากการซื้อขาย, ต่อรอง, แลกเปลี่ยนนี้เอง ที่ทำให้ผู้คนที่มีพรสวรรค์และอาชีพที่แตกต่างกัน สามารถนำพรสวรรค์และทักษะที่พวกเขามีนั้น มาสร้างประโยชน์ให้แก่กันและกัน ในขณะที่สัตว์ชนิดอื่น ๆ แม้ว่ามันจะมีความสามารถพิเศษติดตัวมาโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่พวกมันกลับไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่กันและกันได้เลย ขยายความคือ โดยธรรมชาติแล้วนักปรัชญาใช่ว่าจะมีความสามารถพิเศษ เหนือไปกว่าคนขนของตามท้องถนน ซึ่งจะต่างจากสุนัขพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวตามธรรมชาติ เช่น สุนัขพันธุ์มาสทิฟซึ่งแข็งแกร่ง พันธุ์เกรย์ฮาวด์ซึ่งว่องไว, พันธุ์สแปเนียลที่ฉลาดรอบรู้, และสุนัขเลี้ยงแกะที่ว่านอนสอนง่าย แต่อย่างไรก็ตาม สุนัขทั้งหมดนี้ กลับไม่สามารถนำจุดเด่นของมันมาร่วมมือกันได้ กล่าวคือ ความแข็งแกร่งของสุนัขพันธุ์มาสทิฟ ก็ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากความว่องไวของสุนัขพันธุ์เกรย์ฮาวด์, หรือความฉลาดรอบรู้ของสุนัขพันธุ์สแปเนียล, และความว่านอนสอนง่ายของสุนัขเลี้ยงแกะเลย ดังนั้น ถึงแม้ว่ามันจะมีพรสวรรค์ที่หลากหลายแตกต่างกัน แต่ด้วยความที่มันไม่สามารถทำการต่อรองและแลกเปลี่ยนสินค้ากันได้ มันจึงไม่สามารถมีส่วนแบ่งในสินค้าร่วมกันได้ ซึ่งทำให้เผ่าพันธุ์ของสัตว์ชนิดนี้จึงไม่อาจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ด้วยความที่พวกมันมีชีวิตที่แยกกันอยู่ พึ่งพาตัวเอง และต้องหาทางเอาตัวรอดและป้องกันตัวเองก่อนสิ่งอื่นใดอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้สัตว์เหล่านี้ ไม่สามารถได้รับประโยชน์จากความสามารถพิเศษตามธรรมชาติของเพื่อนร่วมเผ่าของมันได้เลย ซึ่งจะตรงกันข้ามกับเผ่าพันธุ์มนุษย์ ที่มักจะมีการใช้ประโยชน์จากพรสวรรค์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน; กล่าวคือ การที่แต่ละคนใช้พรสวรรค์ที่เขามี ทำการผลิตสินค้าต่าง ๆ ขึ้นมา เมื่อทำการซื้อขาย, ต่อรอง, และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันแล้ว มันก็จะทำให้แต่ละคนสามารถมีส่วนแบ่งในสินค้าร่วมกันได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทุก ๆ คนก็จะสามารถซื้อสินค้าส่วนเกินที่ถูกสร้างขึ้นมาจากพรสวรรค์ของคนอื่น ๆ ได้

I.3.3
ในส่วนของการขยายตลาดให้กว้างมากขึ้นนั้น จะพบว่าการขนส่งทางน้ำสามารถช่วยขยายตลาดได้มากกว่าการขนส่งทางบก ซึ่งเราจะสังเกตได้จากตามแถบชายฝั่งทะเล, หรือตามริมฝั่งแม่น้ำ ที่มักจะค่อย ๆ มีอุตสาหกรรมแทบทุกชนิดปรากฏขึ้น และเจริญเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่นานนัก มันก็จะค่อย ๆ แผ่ขยายเข้าไปยังพื้นที่ตอนในของประเทศเอง

I.4.1
เมื่อมีการแบ่งงานกันทำเกิดขึ้น ก็จะทำให้แรงงานสามารถผลิตสินค้าส่วนเกิน ที่นอกเหนือจากการบริโภคของเขาออกมาได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเขาก็จะสามารถนำสินค้าส่วนเกินที่เขาสร้างขึ้นมานี้ ไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าของคนอื่นได้ ดังนั้น เมื่อทุกคนใช้ชีวิตโดยอาศัยการแลกเปลี่ยนเช่นนี้ ทุก ๆ คน จึงเปรียบเสมือนเป็นพ่อค้า และในท้ายที่สุดสังคมก็จะค่อย ๆ เติบโตไปเป็นสังคมแห่งการค้า

I.5.2
อะไรก็ตามที่เป็นต้นทุนที่แท้จริงของทุก ๆ สิ่งในการที่คน ๆ หนึ่งจะได้ของสิ่งนั้นมา เราอาจจะเรียกง่าย ๆ ว่านั่นคือ ราคาที่แท้จริงของทุกสิ่ง หรือหากจะกล่าวให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น มันก็คือ ความเหน็ดเหนื่อยและความยากลำบากในการที่จะได้ของสิ่งนั้นมา  โดยปกติแล้ว การที่คน ๆ หนึ่ง นำสิ่งของที่เขาผลิตขึ้นมา ไปแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นเพื่อให้ได้สิ่งของที่เขาต้องการนั้น เขาทำเช่นนี้ก็เพราะ เขาคิดว่าจะได้ไม่ต้องไปเผชิญกับความเหน็ดเหนื่อยและความยากลำบากในการลงแรงผลิตสิ่งของนั้น ๆ ด้วยตัวเอง

I.5.2
การที่เราจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งมานั้น ราคาอย่างแรกที่เราต้องจ่ายไป นั่นก็คือ การจ่ายให้กับแรงงาน ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจน ในยุคแรกเริ่มของโลก ที่ความมั่งคั่งทั้งหมดไม่ได้ถูกซื้อด้วยแร่ทองหรือแร่เงิน แต่ถูกซื้อด้วยแรงงาน

I.8.21
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้น ย่อมเกิดจากการที่ประเทศนั้น ๆ มีการเพิ่มขึ้นของรายได้และทุน โดยถ้าปราศจากการเพิ่มขึ้นของทั้งสองสิ่งนี้ ความต้องการในแรงงานก็ย่อมจะไม่มีทางเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อการเพิ่มขึ้นของรายได้และการเพิ่มขึ้นของทุนนั้นเรียกได้ว่า คือ การเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งของชาติ เพราะฉะนั้น เราจึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ความต้องการแรงงานจะเพิ่มขึ้นตามความมั่งคั่งของชาติที่เพิ่มขึ้น และถ้าไม่มีการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งของชาติ ก็ไม่มีทางที่จะไปเพิ่มความต้องการแรงงานได้

I.8.22
ดังที่เราจะเห็นได้จาก ความจริงที่ว่าค่าแรงที่สูงขึ้นมาก ๆ นั้น มันไม่ได้เกิดจากการที่ประเทศชาติมีฐานะร่ำรวยมาก แต่มันเกิดจากการที่ประเทศชาติมีอัตราการเติบโตที่สูง กล่าวคือ ประเทศที่มีค่าแรงที่สูงที่สุด คือประเทศที่กำลังเติบโตไปสู่ความร่ำรวยที่เร็วที่สุด ไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด  ตัวอย่างคือ ในปัจจุบันนี้ ประเทศอังกฤษ แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยกว่าอเมริกาเหนือมาก แต่ในทางกลับกันอเมริกาเหนือกลับมีค่าแรงที่สูงกว่าประเทศอังกฤษมาก เช่น จังหวัดนิวยอร์ค ค่าแรงของแรงงานจะอยู่ที่ 3 ชิลลิง/6 เพนซ์ แต่ในลอนดอนนั้นจะอยู่ที่ 2 ชิลลิง; ช่างไม้ต่อเรือจะได้รับค่าแรงอยู่ที่ 10 ชิลลิง/6 เพนซ์ พร้อมกับเหล้ารัมไพน์หนึ่งที่มีมูลค่า 6 เพนซ์ แต่ในลอนดอนเขาจะได้รับเพียง 6 ชิลลิง/6 เพนซ์; ช่างไม้ต่อบ้านและช่างก่ออิฐจะได้รับค่าแรงที่ 8 ชิลลิง แต่ในลอนดอนเขาจะได้รับเพียง 4 ชิลลิง/6 เพนซ์; หรือ ลูกจ้างรายวันในร้านตัดเสื้อ ได้รับค่าแรง 5 ชิลลิงต่อวัน แต่ในลอนดอนเขาจะได้รับเพียง 2 ชิลลิง/10 เพนซ์ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ราคาของแรงงานที่อเมริกาเหนือนี้สูงกว่าค่าแรงที่ลอนดอน; ไม่เพียงเท่านี้ ค่าแรงในอาณานิคมอื่น ๆ นั้นก็สูงเหมือน ๆ กันกับค่าแรงในนิวยอร์คด้วย นอกเหนือไปจากนั้น ราคาของสิ่งของยังชีพในอเมริกาเหนือก็ยังมีราคาถูกกว่าในอังกฤษ ซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่ในอเมริกาเหนือ ไม่เคยมีภาวะอดอยากเลย แม้แต่ในฤดูกาลที่ย่ำแย่ที่สุดก็ตาม เพราะพวกเขาเหล่านี้มีสิ่งของยังชีพมากเพียงพอที่จะมีไว้ใช้บริโภคเอง จากการที่ลดการส่งออกให้น้อยลง จากที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น เราก็คงจะได้เห็นแล้วว่าราคาที่เป็นตัวเงินของแรงงานในอาณานิคมสูงกว่าประเทศแม่มากแค่ไหน และยิ่งในส่วนของราคาที่แท้จริง (หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ปริมาณสิ่งของจำเป็นและสิ่งของที่นำมาซึ่งความสะดวกสบายให้กับชีวิตที่แรงงานจะได้รับ) ของแรงงานในอาณานิคมนั้น เราก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะมันเรียกได้ว่ามีราคาสูงยิ่งกว่าในประเทศแม่เป็นอย่างมากทีเดียว

I.8.23
แม้ว่าอเมริกาเหนือจะไม่ได้ร่ำรวยเท่ากับอังกฤษ แต่อเมริกาเหนือนั้นมีการเติบโต และก้าวไปสู่ความร่ำรวยในอัตราที่เร็วกว่าอังกฤษ โดยตัวชี้วัดที่ชี้ขาดที่สุดในการบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศใด ๆ ก็ตาม นั่นก็คือการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ซึ่งจะเห็นได้จาก บริเตนใหญ่ รวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตลอดช่วง 500 ปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มขึ้นของประชากรไม่ถึง 2 เท่า ต่างไปจากอเมริกาเหนือที่มีการเพิ่มขึ้นของประชากรมากถึง 2 เท่า ในทุก ๆ 20-25 ปี ซึ่งในปัจจุบัน จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอเมริกาเหนือส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ได้มาจากการที่มีผู้อพยพเข้าไปในอเมริกาเหนือเพิ่มมากขึ้น แต่มันมาจากการที่ประชากรมีลูกมีหลานจำนวนเพิ่มมากขึ้น และยังเป็นที่ว่ากันว่า ชาวอาณานิคมที่มีอายุยืน  จะสามารถได้เห็นหน้าเห็นตาลูกหลานของตนเองเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวน 50-100 คน มิหนำซ้ำยังอาจจะมากกว่านั้นเสียอีก ซึ่งในประเทศที่มีการเติบโตเร็วเช่นนี้ การที่แรงงานมีลูกหลานจำนวนมากจะส่งผลให้นำความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ครอบครัว มากกว่าที่จะเป็นการสร้างภาระแก่ครอบครัว เนื่องจาก เคยมีคนคำนวณไว้แล้วว่า ก่อนที่เด็กแต่ละคนจะแยกครอบครัวออกไป เด็กเหล่านี้จะสามารถช่วยหารายได้ให้แก่ครอบครัวได้เพิ่มมากขึ้นถึงราว ๆ 100 ปอนด์ ส่วนแม่หม้ายที่เป็นชนชั้นกลางหรือชนชั้นล่างที่อายุยังน้อยและมีลูกติดมาด้วยจำนวน 4 หรือ 5 คนนั้น ถ้าเธออยู่ในยุโรปเธอจะหาสามีคนใหม่ได้ยาก แต่ในอาณานิคมอเมริกา เธอมักจะมีหนุ่ม ๆ เข้ามารุมจีบ เนื่องจากเด็ก ๆ เหล่านี้ถือได้ว่าเป็นแหล่งของความมั่งคั่ง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าในประเทศที่เติบโตเร็วเช่นนี้ เด็กจะมีมูลค่าที่สูงที่สุด ทำให้เกิดการกระตุ้นให้ผู้คนแต่งงานกัน ดังนั้น เราจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมผู้คนที่อเมริกาเหนือมักจะแต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ถึงกระนั้น ทั้ง ๆ ที่พวกเขามีการแต่งงานกันตั้งแต่อายุยังน้อยเช่นนี้แล้วก็ตาม แต่ในอเมริกาเหนือก็ยังคงประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงานอยู่อย่างต่อเนื่อง เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจาก ทุนที่ส่งไปเลี้ยงดูแรงงานนั้นมีการเติบโตในอัตราที่เร็วกว่าอัตราการเติบโตของจำนวนประชากร ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้ยังคงมีอุปสงค์ในแรงงานที่สูงมากนั่นเอง

I.8.24
ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ร่ำรวยมาก แต่มีอัตราการเติบโตหยุดนิ่ง ค่าแรงในประเทศนั้นจะไม่สูง เนื่องจาก แม้ว่าประเทศดังกล่าวจะเต็มไปด้วยทุนเป็นจำนวนมาก ที่มันจะถูกนำไปจ่ายเป็นค่าแรง แต่ถ้าทุนเหล่านี้ไม่มีการเติบโต อีกทั้งยังหยุดนิ่งไปเรื่อย ๆ เป็นเวลาหลาย ๆ ศตวรรษ ในขณะที่จำนวนประชากรกลับมีการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์เช่นนี้ จะส่งผลให้ในแต่ละปีนายจ้างจะสามารถหาอุปทานแรงงานได้ง่ายขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อนายจ้างไม่ขาดแคลนแรงงาน พวกเขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแข่งขันกันประมูลค่าแรงในการจ้างแรงงาน เมื่อเป็นเช่นนี้ แรงงานก็มักจะมีจำนวนมากกว่าตำแหน่งงานจึงทำให้พวกเขาหางานได้ยาก ในท้ายที่สุดพวกเขาก็จำเป็นต้องแข่งขันกันเองเพื่อให้ได้งานมา แม้จะต้องแลกกับการได้ค่าจ้างที่ต่ำที่สุดก็ตาม
หากจะอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นคือ ค่าแรงจะไม่สูงในประเทศที่แม้ว่าจะร่ำรวย แต่มีอัตราการเติบโตที่หยุดนิ่ง กล่าวคือ ถ้าทุนไม่มีการเติบโตหรือเติบโตน้อยไปสักศตวรรษหนึ่ง เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้น อุปทานแรงงานก็จะเพิ่มขึ้น จะทำให้แรงงานต่างแข่งขันกันเองเพื่อให้ได้งาน ดังนั้น ค่าแรงของแรงงานที่ได้ จึงอยู่ในระดับที่มากเพียงพอที่จะใช้เลี้ยงดูตนเอง และครอบครัวของเขาได้เท่านั้น เนื่องมาจาก การแข่งขันกันเองของเหล่าแรงงาน และจากการที่นายจ้างต่างก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเอง จึงทำให้ภายในไม่ช้า ค่าแรงจะถูกลดลงมาให้อยู่ในระดับที่ว่านี้ ซึ่งมันเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดที่ยังมีมนุษยธรรมอยู่ ตัวอย่างเช่น ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก เพราะเป็นประเทศที่มีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ที่มากสุด, มีการเพาะปลูกที่มากที่สุด, มีอุตสาหกรรมและจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนนั้นอยู่ในสภาวะที่การเติบโตหยุดนิ่งมานานมากแล้ว ซึ่งจะเห็นได้จากการที่มาร์โค โปโล ผู้ซึ่งได้ไปเยือนประเทศจีนมาเมื่อ 500 ปีที่แล้ว  ก็ยังเขียนถึงประเทศจีนว่าเป็นประเทศที่มีการเกษตร, อุตสาหกรรม, และประชากรจำนวนมาก เหมือนกับที่นักเดินทางในปัจจุบันนี้เขียนถึงประเทศจีน ยิ่งไปกว่านั้น มันมีความเป็นไปได้ว่าประเทศจีน อาจจะเคยก้าวไปถึงจุดที่ร่ำรวยมานานแล้ว (เท่าที่กฎหมายและสถาบันการปกครองของประเทศจีนจะเอื้อให้ร่ำรวยได้)  ก่อนที่มาร์โค โปโลจะไปเยือนเสียอีก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบันทึกของนักเดินทางที่เคยเดินทางไปเยือนประเทศจีนจะเขียนไม่ตรงกันในเรื่องต่าง ๆ แต่เรื่องหนึ่งที่ทุกคนล้วนบรรยายไว้ตรงกัน นั่นก็คือ ค่าแรงของแรงงานในประเทศจีนนั้นต่ำมาก ซึ่งต่ำจนไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้ แรงงานในประเทศจีนต้องทนรับสภาพที่จะต้องทำงานขุดดินทั้งวัน เพื่อรับค่าแรงในจำนวนน้อยนิดที่จะทำให้เขา สามารถนำไปซื้อข้าวได้เพียงเล็กน้อยสำหรับมื้อเย็น แต่อาชีพที่มีสภาพแย่ไปกว่านั้น ก็คือ เหล่าช่างฝีมือ เพราะแทนที่เขาจะได้นั่งอย่างอ้อยอิ่งอยู่ในเรือนทำงานเพื่อรอให้ลูกค้าเรียกตัวไปใช้งานเหมือนอย่างที่ทำกันในยุโรป ช่างฝีมือในจีนกลับต้องแบกเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบอาชีพติดตัวไป แล้ววิ่งไปตามท้องถนนเพื่อเสนอบริการ หรือขอร้องให้ผู้คนจ้างงานเขา ความยากจนของชนชั้นล่างในประเทศจีนนั้นมีสภาพที่แย่ยิ่งกว่าขอทานในชาติที่ยากจนที่สุดในยุโรปเสียอีก เป็นที่ว่ากันว่า ในแถบกวางตุ้ง ครอบครัวเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ครอบครัวล้วนไม่มีที่อยู่อาศัย จึงต้องไปอาศัยอยู่บนเรือหาปลาลำเล็ก ๆ ที่ลอยอยู่ในแม่น้ำและลำคลองต่าง ๆ และพวกเขาก็ขาดแคลนสิ่งของยังชีพเป็นอย่างมาก เมื่อไรก็ตามที่มีการโยนขยะที่น่ารังเกียจลงมาจากเรือของชาวยุโรป ผู้คนจะแห่กันไปแย่งขยะที่น่ารังเกียจเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น พวกซากสัตว์ เช่น ซากสุนัขหรือซากแมวที่ตายแล้ว แม้ว่ามันจะเน่าไปครึ่งหนึ่งและส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง แต่ผู้คนในจีนก็จะแย่งกันราวกับว่ามันเป็นอาหารชั้นดี ไม่เพียงเท่านี้ ในประเทศจีนนั้นการแต่งงานไม่ได้เกิดจากการที่เด็กสามารถสร้างกำไรให้แก่ครอบครัวได้ แต่มันเกิดจากการที่พ่อแม่มีอิสรภาพที่จะทำลายพวกเขาได้ และที่แย่ไปกว่านั้น ตามตัวเมืองใหญ่ ๆ ทุกเมืองในประเทศจีน ทุก ๆ ค่ำคืนจะมีคนนำเด็กทารกมาทอดทิ้งไว้กลางถนน หรือ ไม่ก็นำเด็กไปจับกดน้ำเหมือนกับลูกสุนัข (drowned like puppies)  อีกทั้งยังว่ากันว่ามีบางคนที่ทำธุรกิจรับจ้างฆ่าเด็กทารกจนสามารถใช้หาเลี้ยงชีพตนเองได้เลยทีเดียว

I.8.25
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศจีน จะไม่มีการเติบโต แต่อย่างน้อย ๆ มันก็ไม่ได้ก้าวถอยหลัง กล่าวคือ ประชากรยังไม่ได้ละทิ้งเมือง และก็ยังไม่มีใครละทิ้งการทำเกษตรกรรมบนผืนดิน ไม่เพียงเท่านี้ ในแต่ละปีก็ยังมีแรงงานทำงานในจำนวนเท่าเดิมอยู่ และทุนที่ถูกส่งไปเลี้ยงดูแรงงานก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป ดังนั้น ในประเทศจีน แม้ว่าแรงงานชนชั้นล่างที่สุด แทบจะมีของยังชีพไม่พอประทังชีพ แต่พวกเขาก็ยังมีหนทางอื่น ๆ ที่จะสามารถดำรงเผ่าพันธุ์ของพวกเขาให้ยังคงอยู่ได้โดยมีจำนวนเท่าเดิม

I.8.26
ส่วนกรณีหนักที่สุด เห็นจะเป็น กรณีที่ทุนที่นำไปใช้เลี้ยงแรงงานได้เสื่อมถอยลง  กล่าวคือ ทุก ๆ ปีความต้องการแรงงานในทุกประเภทจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ สภาวะเช่นนี้ แม้แต่แรงงานที่มีทักษะสูงยังหางานที่ตรงกับสายงานตัวเองได้ยากเลย จึงทำให้พวกเขาต้องยอมรับงานที่ได้ค่าแรงต่ำลงมา ส่วนแรงงานไร้ทักษะ นอกจากจะต้องประสบกับปัญหาอุปทานแรงงานประเภทเดียวกันสูงแล้ว พวกเขายังต้องประสบกับปัญหาการถูกแย่งงานจากแรงงานที่มีทักษะอีกด้วย สถานการณ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้ทุกคนต้องแย่งงานกันทำ ค่าแรงจึงตกต่ำลงมาจนถึงจุดที่ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ผู้คนที่ไม่สามารถหางานทำได้ก็จะอดตาย ไม่ก็กลายเป็นขอทาน หรือกลายเป็นโจรผู้ร้าย ชนชั้นล่างในสังคมที่ยากจนและอดอยาก ก็จะพากันตายจากไป ซึ่งสภาวะดังกล่าว มันจะค่อย ๆ ลามไปยังชนชั้นสูงในสังคม จนทำให้จำนวนประชากรภายในประเทศลดลงไปเรื่อย ๆ จนถึงจุด ๆ หนึ่งที่รายได้และทุนที่เหลืออยู่ภายในประเทศจะสามารถเลี้ยงดูแรงงานไม่ให้ตายได้ ซึ่งทุนที่ว่านี้ ก็คือทุนที่รอดพ้นจากการทำลายของเผด็จการ หรือภัยพิบัติที่ทำลายทุนส่วนที่เหลือไปได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดถึงสภาวะเช่นนี้ก็คือ รัฐเบงกอลในปัจจุบัน (Bengal)  และอาณานิคมของอังกฤษบางแห่งที่อยู่ในอีสต์อินดีส (East Indies)  กล่าวคือ ก่อนหน้าที่จะมีการเข้าไปตั้งอาณานิคม ประเทศเหล่านี้มีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก สิ่งของยังชีพก็หาได้ไม่ยาก แต่ในปัจจุบันนี้กลับมีคนตายจากการขาดอาหาร 300,000-400,000 คนต่อปี ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้เรามั่นใจได้เลยว่า ทุนที่ถูกนำไปใช้เลี้ยงดูแรงงานผู้ยากจนนั้น เกิดการเสื่อมถอยลงในอัตราที่เร็วมาก  ซึ่งมันเป็นผลมาจากการที่อินดีสตะวันออกถูกปกครองแบบกดขี่และเผด็จการภายใต้บริษัทอินเดียตะวันออก ไม่เหมือนกับที่อาณานิคมในอเมริกาเหนือ ที่ทุนเติบโตเร็ว จากการได้รับความคุ้มครองและถูกปกครองโดยรัฐธรรมนูญอันยอดเยี่ยมของบริติช
ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เมื่อชาติมีความมั่งคั่งเติบโตขึ้น แรงงานจะมีค่าแรงสูงขึ้น เมื่อชาติมีความมั่งคั่งเท่าเดิม แรงงานจะได้ค่าแรงที่แทบจะไม่พอยังชีพ และเมื่อชาติกำลังมีความมั่งคั่งถดถอยลง แรงงานก็จะอดตาย

I.8.34 - I.8.35
... การที่แรงงานผู้ยากจนไม่พึงพอใจกับอาหาร, เสื้อผ้า, และที่อยู่อาศัยที่พวกเขาเคยพึงพอใจในอดีต จนมีคำกล่าวหาที่ว่า ผู้คนชนชั้นล่างสุดของสังคมมีการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย (luxury) กันมากขึ้น เหตุการณ์เช่นนี้ ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจได้อย่างแน่นอนว่า มันไม่ใช่เพียงแค่ค่าตอบแทนในรูปตัวเงินของแรงงานเท่านั้นที่สูงขึ้นกว่าในอดีต แต่มันยังรวมไปถึงค่าตอบแทนที่แท้จริงของแรงงานด้วยที่สูงขึ้นกว่าในอดีต

ต่อมามันจึงเกิดคำถามที่ว่า การที่ชนชั้นล่างของสังคมมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้นนั้น มันนับว่าเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษต่อสังคม? เพียงแค่เรามองแวบแรก ก็รู้ได้เลยว่ามันสามารถตอบได้ด้วยคำตอบที่เรียบง่ายมาก กล่าวคือ เนื่องจากคนรับใช้, แรงงาน, และคนงานที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ ล้วนจัดเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในสังคม ดังนั้น การที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนั้น ก็ต้องนับว่าเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมทั้งหมดอย่างแน่นอน เพราะคงไม่มีสังคมไหนที่จะมั่งคั่งและมีความสุขได้ ถ้าประชากรส่วนใหญ่ยังคงยากจนและเป็นทุกข์อยู่ นอกจากนี้ มันยังเป็นเรื่องของความเท่าเทียมกันอีกด้วย กล่าวคือ ผู้คนที่ผลิตอาหาร, ผลิตเสื้อผ้า, และสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนอื่น ๆ จำนวนมากในสังคม พวกเขาเหล่านี้ก็สมควรที่จะได้รับส่วนแบ่งจากสินค้าที่เขาได้ลงแรงผลิตด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อาหาร, เสื้อผ้า, และที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้นนั่นเอง

I.8.38
โดยธรรมชาติแล้ว สัตว์ทุกชนิดจะเพิ่มจำนวนประชากรในสัดส่วนเดียวกับจำนวนสิ่งของยังชีพ และไม่มีสัตว์ชนิดใดที่จะสามารถเพิ่มจำนวนประชากรให้มีมากกว่าจำนวนสิ่งของยังชีพได้ ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ในสังคมที่ศิวิไลซ์แล้ว จะมีเพียงชนชั้นล่างเท่านั้นที่ขาดแคลนสิ่งของยังชีพ ซึ่งสิ่งนี้นี่เอง ที่จะเป็นตัวจำกัดขอบเขตของพวกเขาไม่ให้สามารถแพร่พันธุ์สายพันธุ์มนุษย์ให้มีจำนวนมากขึ้นไปกว่านี้ได้; กล่าวโดยสรุปคือ แม้ว่าการแต่งงานของชนชั้นล่างจะผลิตลูกหลานออกมาได้เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่ในท้ายที่สุด เด็กจำนวนมากเหล่านี้ก็ย่อมต้องเสียชีวิตไปจากการขาดแคลนสิ่งของยังชีพ

I.8.39
การที่แรงงานได้รับค่าตอบแทนที่แท้จริงมากขึ้น จะส่งผลให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูลูก ๆ ได้ดีขึ้น และสามารถผลักดันขอบเขตตรงนี้ออกไปได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตคือ ขอบเขตที่ว่านี้จะมีความใกล้เคียงกับความต้องการของแรงงาน ขยายความคือ ถ้ามีความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น ค่าตอบแทนที่แท้จริงก็จะสูงขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการกระตุ้นให้มีการแต่งงานกันเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้มีจำนวนแรงงานเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงสร้างอุปทานแรงงานด้วยการเพิ่มจำนวนประชากรให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อไปเติมเต็มอุปสงค์แรงงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ในกรณีที่ค่าตอบแทนที่แท้จริงของแรงงานมีจำนวนน้อยกว่าที่มันควรจะเป็น ในไม่ช้าค่าตอบแทนที่แท้จริงก็จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากในตลาดอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน;
และในกรณีที่ค่าตอบแทนที่แท้จริงของแรงงานสูงกว่าที่มันควรจะเป็น ในไม่ช้าแรงงานที่เกิดใหม่เป็นจำนวนมากก็จะไปลดค่าตอบแทนที่แท้จริงให้กลับมาอยู่ในอัตราทั่ว ๆ ไป
จากในข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าในกรณีหนึ่ง ตลาดอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน ส่วนในอีกกรณีหนึ่ง ตลาดอยู่ในภาวะแรงงานล้นตลาด ซึ่งในไม่ช้า ราคาของแรงงานก็จะถูกปรับเข้าหาอัตราที่เหมาะสมตามสภาพแวดล้อมที่สังคมนั้น ๆ ต้องการ เพราะมนุษย์ก็เปรียบเสมือนกับโภคภัณฑ์อย่างหนึ่ง ที่อุปสงค์ในตัวมนุษย์ เป็นสิ่งที่ควบคุมการผลิตมนุษย์; กล่าวคือ ถ้าการผลิตมนุษย์นั้นช้าเกินไป อุปสงค์จะเป็นตัวผลักดันให้มีการผลิตมนุษย์ให้เร็วขึ้น, และถ้าการผลิตมนุษย์นั้นเร็วเกินไป อุปสงค์จะเป็นตัวหยุดการผลิตมนุษย์ลง ซึ่งอุปสงค์ดังกล่าวจะเป็นตัวควบคุมและกำหนดสภาวะในการแพร่พันธุ์เผ่าพันธุ์มนุษย์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ดังที่เราจะเห็นได้จากการที่มันทำให้จำนวนประชากรในอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว, ทำให้จำนวนประชากรในยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ, และทำให้จำนวนประชากรในประเทศจีนคงที่

I.8.44
มีบางคนมีความเห็นว่า ในปีที่สิ่งของจำเป็นมีราคาถูก แรงงานมักจะขี้เกียจ ส่วนในปีที่สิ่งของจำเป็นมีราคาแพง แรงงานมักจะขยันกว่าปกติ ดังนั้นพวกเขาจึงสรุปกันเองว่า การมีสิ่งของจำเป็นจำนวนมาก จะทำให้แรงงานขี้เกียจ ส่วนการมีสิ่งของจำเป็นจำนวนน้อย จะทำให้แรงงานขยัน ซึ่งความเห็นที่ว่านี้ แม้ว่ามันจะมีความเป็นไปได้ส่วนหนึ่งว่า การมีสิ่งของจำเป็นในจำนวนที่มากกว่าระดับปกตินั้น อาจจะทำให้แรงงานบางคนขี้เกียจได้จริง; แต่มันก็ไม่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างเท่าไรนัก เพราะมันจะเป็นไปได้อย่างไร ที่คนที่กินไม่อิ่มจะทำงานได้ดีกว่าคนที่กินอิ่ม มันจะเป็นไปได้อย่างไร ที่คนที่ขวัญกำลังใจลดน้อยถอยลงจะทำงานได้ดีกว่าคนที่ขวัญกำลังใจดี และมันจะเป็นไปได้อย่างไร ที่คนที่ป่วยอยู่บ่อย ๆ จะทำงานได้ดีกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง มิหนำซ้ำ ในปีที่เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง คนทั่ว ๆ ไป มักจะมีอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการตายที่สูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ผลที่ตามมาคือ มันจะไปลดจำนวนผลผลิตที่เกิดจากความขยันของพวกเขาให้น้อยลง

I.9.11
มันก็เหมือนกับสุภาษิตโบราณที่กล่าวไว้ว่า ใช้เงินต่อเงิน เมื่อคุณมีเงินก้อนเล็ก ๆ แล้ว มันก็ย่อมง่ายที่จะได้เพิ่มมากขึ้น แต่ทว่า จุดที่ยากที่สุดก็คือการได้มาซึ่งเงินก้อนเล็ก ๆ ก้อนนี้นี่เอง

I.10.9
ค่าแรงของแรงงานจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความยากหรือง่าย และราคาในการเรียนรู้ธุรกิจนั้น ๆ ว่าถูกหรือแพง
หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ เมื่อเครื่องจักรราคาแพงถูกซื้อมา เจ้าของก็มักจะป้อนงานเข้าไปจำนวนมากก่อนที่เครื่องจักรจะเสีย เพราะเขาคาดหวังว่าเงินทุนที่ลงไปนี้จะสามารถสร้างกำไรให้เขาได้มากกว่าระดับกำไรทั่ว ๆ ไป ดังนั้น คนที่ต้องเสียแรงและเวลาในการเรียน เพื่อไปทำงานที่ต้องอาศัยความชำนาญและทักษะชั้นสูงจึงเปรียบได้เหมือนกับเครื่องจักรราคาแพงเหล่านี้ เพราะเขาต่างก็คาดหวังว่า การที่เขาลงทุนเรียนไปนี้ เขาก็ควรจะได้งานที่เหนือกว่าค่าแรงทั่ว ๆ ไป และควรจะได้รับค่าแรงสูงกว่าแรงงานทั่ว ๆ ไปอีกด้วย ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ต้นทุนในการเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ ก็ควรจะได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าเมื่อเทียบกับเงินที่ลงทุนไปเพื่อการศึกษา และเขาก็จะต้องรีบเก็บเกี่ยวเงินนี้ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เช่นเดียวกันกับ เครื่องจักรราคาแพงที่เจ้าของจะต้องรีบเก็บเกี่ยวเงินจากมันก่อนที่จะหมดอายุการใช้งาน

I.10.30
เมื่อนำมาคำนวณทางคณิตศาสตร์จะพบว่า ยิ่งคุณซื้อลอตเตอรี่มากขึ้นเท่าไร คุณจะยิ่งเป็นผู้แพ้มากขึ้นเท่านี้ และถ้าคุณซื้อลอตเตอรี่ทุกเบอร์ คุณก็จะกลายเป็นผู้แพ้อย่างแน่นอน

I.10.67
จากคำกล่าวที่ว่า ทุก ๆ คนมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เขาหามาได้จากการลงแรงของเขา คำกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นรากฐานของแนวคิดเรื่องทรัพย์สินทั้งหมด  ดังนั้น สิทธิในทรัพย์สินจึงถือเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์และล่วงละเมิดมิได้ ถ้ามรดกที่คนยากจนได้รับมาจากพ่อของเขาคือ มือที่ชำนาญและแข็งแรง; ดังนั้น การที่ไปขัดขวางเขาไม่ให้เขาสามารถนำความชำนาญและความแข็งแรงของเขาไปทำสิ่งที่เขาเห็นว่าเหมาะสม ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ไปละเมิดชีวิตผู้อื่นเลยนั้น การกระทำเช่นนี้ จะถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของเขาเช่นกัน  การขัดขวางที่กล่าวมานี้จัดว่าเป็นการล่วงละเมิดเสรีภาพ (liberty) ของทั้งแรงงาน และนายจ้าง เพราะมันเป็นการกีดขวางแรงงานไม่ให้เขาทำงานในสิ่งที่เขาคิดว่าเหมาะสม และกีดขวางนายจ้างไม่ให้จ้างคนที่เขาคิดว่าเหมาะสม ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การที่นายจ้างจะจ้างใคร เขาก็ย่อมที่จะคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว เราจึงสามารถเชื่อการตัดสินใจในการจ้างคนที่เหมาะสมของนายจ้างได้ ดังนั้น การที่ผู้ออกกฎหมายอ้างเหตุผลที่ต้องมีการควบคุมในเรื่องของการจ้างงาน ว่าเป็นเพราะเกรงว่านายจ้างจะไปจ้างคนที่ไม่เหมาะสมมาทำงานนั้น นอกจากจะเป็นเหตุผลที่ไม่ตรงประเด็นแล้ว มันยังเป็นการแสดงถึงการกดขี่อีกด้วย

I.10.86
การอ้างว่าการจัดตั้งสมาคมอาชีพนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันทำให้พวกเขาสามารถดูแลธุรกิจนั้น ๆ ได้ดีขึ้น มันเป็นคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย เนื่องจาก ข้อบังคับที่แท้จริงและได้ผลกับคนทำงานที่จะมีอิทธิพลให้เขาทำงานได้ดีขึ้น นั่นก็คือ ลูกค้าของเขา ไม่ใช่สมาคมการค้าของเขา เพราะความที่เขากลัวจะสูญเสียงานไปต่างหาก ที่ทำให้เขาละเว้นการฉ้อโกงและแก้ไขความประมาทของเขาเอง แต่ในทางตรงกันข้าม การมีสมาคมอาชีพที่มีสิทธิพิเศษนั้น กลับทำให้พลังของข้อบังคับนี้อ่อนลงไปมากกว่า เพราะการมีสมาคมอาชีพ เมื่อแรงงานถูกจ้างมาเขาจะทำตัวดีหรือแย่ก็ได้ ด้วยเหตุนี้ มันจึงทำให้เมืองขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยสมาคมอาชีพจำนวนมาก มักจะมีแต่แรงงานที่ไม่ค่อยดีเท่าไร ซึ่งจะต่างไปจากย่านชานเมือง ที่ซึ่งแรงงานจะไม่มีสิทธิพิเศษใด ๆ เลย ดังนั้น ถ้าคุณต้องการให้งานเสร็จลุล่วงด้วยดี คุณจะต้องไปทำที่ชานเมือง หลังจากนั้นค่อยหาทางลักลอบขนชิ้นงานนั้นกลับเข้าไปในเมืองให้แนบเนียนที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้

I.10.120
ในส่วนของข้อสังเกตของดร.เบิร์น ได้มีการกล่าวไว้ว่า
“จากประสบการณ์ตลอด 400 ปี” “ดูเหมือนว่า มันถึงเวลาแล้วที่รัฐควรที่จะหยุดความพยายามที่จะควบคุมค่าแรงอย่างเข้มงวดด้วยวิธีการต่าง ๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วรัฐเองก็ไม่สามารถที่จะมาควบคุมนาทีต่อนาทีได้อยู่แล้ว: แล้วถ้าทุก ๆ คนที่ทำงานอย่างเดียวกัน แล้วเขาได้รับค่าแรงในจำนวนที่เท่า ๆ กัน มันจะไม่ทำให้เกิดการแข่งขันใด ๆ ขึ้นมา ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ผู้คนจะไม่เกิดความขยันหรือเกิดความฉลาดหลักแหลมขึ้นมาเลย”

I.11.5
ดังนั้น ค่าเช่าจากผืนดิน เราอาจจะมองว่า มันเป็นราคาที่ต้องจ่ายจากการใช้ผืนดิน ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมันจะเป็นราคาผูกขาด เนื่องจาก ค่าเช่าที่ดินมันไม่ได้เป็นสัดส่วนกับทุนที่เจ้าของที่ดินลงทุนไป ในการปรับปรุงผืนดิน หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ค่าเช่าที่ดินไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกค่าเช่าเท่าไร แต่มันขึ้นอยู่กับว่าชาวนาจะสามารถจ่ายค่าเช่าได้เท่าไร

I.11.59
แต่เมื่อไหร่ที่มีการปรับปรุงผืนดินและมีวิธีการเพาะปลูกที่ดีขึ้นแล้วนั้น แรงงาน 1 ครอบครัวก็จะสามารถผลิตอาหารเลี้ยงได้ถึง 2 ครอบครัว หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ แรงงานครึ่งหนึ่งของสังคมจะสามารถผลิตอาหารเลี้ยงคนทั้งหมดในสังคมได้ และถ้าเป็นเช่นนั้น แรงงานอีกครึ่งหนึ่งก็จะมีโอกาสที่จะไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ซึ่งเป็นอาชีพที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้อื่นหรือตอบสนองต่อความพึงพอใจของมนุษยชาติได้ เช่น อาชีพที่ผลิตเสื้อผ้าและที่อยู่อาศัย, เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน, และรถม้าที่หรูหรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นวัตถุหลัก ๆ ส่วนใหญ่ที่ใช้ในการตอบสนองต่อความต้องการและความพึงพอใจของมนุษย์นั่นเอง หากจะอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นคือ โดยธรรมชาติแล้ว คนที่ร่ำรวย เขาก็จะบริโภคอาหารไม่มากไปกว่าเพื่อนบ้านที่ยากจนของเขา ถึงแม้ว่าในแง่ของคุณภาพ มันอาจจะมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก รวมไปถึงการเลือกวัตถุดิบและวิธีการตระเตรียมอาหารของคนร่ำรวยที่อาจจะต้องใช้การลงแรงและทักษะในการปรุงอาหารที่เหนือชั้นกว่าไปบ้างก็ตาม; แต่ในแง่ของปริมาณแล้ว มันแทบจะไม่ต่างกันเลย แต่เมื่อลองมาเปรียบเทียบกันในเรื่องของที่อยู่อาศัย, เสื้อผ้า, และเฟอร์นิเจอร์แล้ว จะพบว่ามันมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก โดยเราอาจจะลองนึกถึงพระราชวังขนาดใหญ่และตู้เสื้อผ้าขนาดยักษ์ กับ กระต๊อบและเสื้อผ้าไม่กี่ตัว ซึ่งจะเห็นได้ชัดเลยว่ามันมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมากทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ เหตุผลคือ ความต้องการอาหารของมนุษย์ทุกคนนั้น มันถูกจำกัดโดยกระเพาะแคบ ๆ ของเขา; แต่ความปรารถนาในความสะดวกสบายและความหรูหราของ ที่อยู่อาศัย, เสื้อผ้า, รถม้า, และเฟอร์นิเจอร์ มันเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุดเลย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้คนที่ครอบครองอาหารจำนวนมากกว่าที่พวกเขาสามารถบริโภคได้ มักจะมีความปรารถนาที่จะแลกเปลี่ยนอาหารส่วนเกินที่เขามีอยู่นี้ (หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า ราคาของมัน) กับ ความพึงพอใจอื่น ๆ ที่เขาต้องการ เพราะสิ่งที่อยู่เหนือกว่าความพึงพอใจที่มีขีดจำกัดของมนุษย์นั้นก็คือความบันเทิง และมันก็เป็นความพึงพอใจที่ไม่มีทางเติมเต็มและไม่มีขอบเขต ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า การที่คนยากจนจะหาอาหารมาได้นั้น เขาต้องใช้ความพยายามที่จะทำให้คนร่ำรวยเกิดความพึงพอใจ และความแน่นอนที่เขาจะได้รับอาหาร มันก็ขึ้นอยู่กับว่า เขาจะสามารถแข่งขันกับแรงงานคนอื่น ๆ ผ่านการทำงานของพวกเขาที่มีราคาถูกและสมบูรณ์แบบได้ดีกว่าคนอื่น ๆ มากแค่ไหน กล่าวโดยสรุปคือ จำนวนคนงานจะเพิ่มมากขึ้นได้ เมื่อมีปริมาณอาหารเพิ่มมากขึ้น (หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อมีการปรับปรุงผืนดินและมีการทำการเพาะปลูกบนผืนดินเพิ่มมากขึ้น); ซึ่งการปรับปรุงผืนดิน โดยธรรมชาติแล้วนั้น มันจะทำให้เกิดการแบ่งงานกันทำให้ซอยย่อยออกไปในจำนวนที่มากที่สุด และเมื่อมีการแบ่งงานกันทำขนานใหญ่เกิดขึ้นแล้ว จำนวนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมันก็จะเพิ่มมากขึ้นในสัดส่วนที่เร็วกว่าจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมันจะทำให้เกิดอุปสงค์ในวัตถุดิบต่าง ๆ ที่มนุษย์สามารถนำมันมาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ประโยชน์ หรือ นำไปใช้ในการตกแต่ง เช่น สิ่งก่อสร้าง, เสื้อผ้า, รถม้า, หรือเฟอร์นิเจอร์; รวมไปถึงเชื้อเพลิงและแร่ที่อยู่ใต้บาดาล, โลหะมีค่า, และหินที่มีค่าต่าง ๆ

I.11.88
เราจะเห็นได้ว่าอะไรก็ตามที่ไปเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนดินที่ใช้ในการผลิตอาหาร นอกจากมันจะไปเพิ่มมูลค่าของที่ดินที่ถูกปรับปรุงผืนดินแล้ว มันยังมีส่วนไปเพิ่มมูลค่าของที่ดินที่อื่น ๆ อีกด้วย เพราะมันเป็นการไปสร้างอุปสงค์ใหม่ ๆ จากผลผลิตของที่ดินอื่น ๆ ขยายความคือ การปรับปรุงผืนดินจะทำให้เกิดอาหารจำนวนมากล้น ซึ่งมันมากเกินกว่าที่จะนำไปบริโภคเองได้ทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้คนจึงมีอาหารส่วนเกินที่จะนำไปแลกกับสิ่งของอื่น ๆ ได้ และนี่จึงนำไปสู่การที่ผู้คนมีอุปสงค์ในโลหะมีค่า, หินมีค่า, สิ่งของที่นำมาซึ่งความสะดวกสบายทุกชนิด, เครื่องประดับบนเสื้อผ้า, เครื่องแต่งบ้าน, เฟอร์นิเจอร์ที่หรูหรา, และรถม้า กล่าวโดยสรุปคือ อาหารนั้น นอกจากมันเป็นหัวใจหลักในการสร้างความมั่งคั่งที่แท้จริงบนโลกใบนี้แล้ว การที่มีอาหารมากล้นมันก็ยังเป็นหัวใจหลักในการสร้างมูลค่าให้กับความมั่งคั่งชนิดอื่น ๆ อีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ในยุคที่สเปนแล่นเรือออกไปสำรวจโลก พวกเขาได้ไปเจอชนพื้นเมืองที่ยากจนในคิวบาและเซนต์โดมิงโกเป็นครั้งแรก  บรรดาชนพื้นเมืองเหล่านี้สวมทองชิ้นเล็ก ๆ ประดับตามเสื้อผ้าและผม นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าชนพื้นเมืองจะให้มูลค่ากับทอง เหมือนกับที่เราให้มูลค่ากับก้อนกรวดที่มีสีสันที่สวยงามกว่าปกติ ก้อนกรวดเหล่านี้มันอาจจะคุ้มค่าที่เราจะหยิบมันขึ้นมา แต่มันก็ไม่ได้มีมูลค่าอะไรนัก ซึ่งหากมีใครมาขอ เราก็พร้อมยินดีที่จะยกให้เขาได้ เช่นเดียวกันกับชนพื้นเมืองเหล่านี้ ที่เมื่อแขกผู้มาเยือนชาวสเปนได้ยื่นคำขอทองเป็นครั้งแรกกับพวกเขา พวกเขาต่างก็ยินดีที่จะมอบทองให้ชาวสเปนไป โดยพวกเขาไม่ได้คิดว่าพวกเขากำลังมอบของกำนัลที่มีมูลค่าอย่างมหาศาลอยู่ อีกทั้งพวกเขายังประหลาดใจมากที่เห็นชาวสเปนแสดงความคลั่งไคล้ในทองคำขนาดนั้น; เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ โดยทั่วไปแล้ว ชนพื้นเมืองเหล่านี้มักจะเจอกับปัญหาการขาดแคลนอาหารอยู่บ่อย ๆ พวกเขาจึงไม่เคยคิดว่า มันจะมีประเทศอื่น ๆ ในโลก ที่ผู้คนมีอาหารส่วนเกินมากล้น ซึ่งในประเทศที่มีอาหารมากล้น ผู้คนก็จะเกิดอุปสงค์ในสิ่งของอย่างอื่นที่นอกเหนือไปจากอาหาร และการที่มีทองชิ้นเล็ก ๆ ที่แวววาวเช่นนี้ มันก็จะสามารถทำให้ชาวสเปนสามารถเลี้ยงดูครอบครัวของเขาไปได้อีกนานหลายปีเลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าคนพื้นเมืองได้รับรู้และเข้าใจในเรื่องนี้ พวกเขาก็คงจะไม่แปลกใจเลยที่ชาวสเปนแสดงความคลั่งไคล้ในทองมากเช่นนี้

I.11.237 - I.11.238
แต่ในมุมมองของสังคม ความรู้ในเรื่องความแตกต่างระหว่างมูลค่าของสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือมูลค่าของแร่เงินที่ตกต่ำลงนั้น มันยังมีประโยชน์อยู่ เพราะมันสามารถใช้เป็นข้อพิสูจน์ง่าย ๆ ว่า ประเทศนั้น ๆ กำลังอยู่ในสภาวะที่กำลังรุ่งเรืองอยู่
เช่น ถ้าเสบียงอาหารบางประเภทมีราคาที่สูงขึ้น จากสาเหตุที่ว่า มูลค่าของแร่เงินนั้นตกต่ำลง เราก็จะสามารถอนุมานได้เลยว่า มันเกิดจากการที่เหมืองโลหะมีค่าในอเมริกามีความอุดมสมบูรณ์และมีการผลิตโลหะมีค่าออกมาเป็นจำนวนมาก ส่วนความมั่งคั่งที่แท้จริงของประเทศ (ผลผลิตรายปีจากผืนดินและแรงงาน) ก็อาจจะกำลังเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง เหมือนในกรณีของประเทศโปรตุเกสและโปแลนด์; หรือความมั่งคั่งที่แท้จริงของประเทศ (ผลผลิตรายปีจากผืนดินและแรงงาน) ก็อาจจะกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหมือนในกรณีของประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปก็เป็นได้
แต่ถ้าเสบียงอาหารบางประเภทมีราคาที่สูงขึ้น จากสาเหตุที่ว่า ที่ดินที่ใช้ในการผลิตเสบียงอาหารชนิดนั้น ๆ มีมูลค่าที่แท้จริงสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้นจากการที่มีการปรับปรุงผืนดินและมีการเพาะปลูกที่ดีขึ้น จึงทำให้ที่ดินเหล่านี้มีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในการปลูกข้าวสาลี; ในกรณีนี้ เราจะเห็นได้ว่าการที่ราคาของเสบียงอาหารเพิ่มมากขึ้น มันเป็นตัวบ่งชี้ว่าประเทศชาติมีความร่ำรวยและกำลังอยู่ในสภาวะเติบโต เนื่องจาก ที่ดินนั้น ถือว่าเป็นความมั่งคั่งที่มีจำนวนมากที่สุด, สำคัญมากที่สุด, และมีความคงทนมากที่สุดของประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ความรู้ในเรื่องของความแตกต่างระหว่างมูลค่าของสินค้าที่เพิ่มขึ้น หรือมูลค่าของแร่เงินที่ตกต่ำลงนั้น อย่างน้อยที่สุดมันก็ยังมีประโยชน์ให้รัฐสามารถพิสูจน์ได้ และนำไปบอกกล่าวแก่ประชาชนเพื่อให้พวกเขาพึงพอใจ ว่าความมั่งคั่งของชาติส่วนที่มีจำนวนมากที่สุด, สำคัญมากที่สุด, และมีความคงทนมากที่สุดนั้น กำลังมีมูลค่าที่เพิ่มมากขึ้น

นอกเหนือไปจากนั้น ในมุมมองของสังคม มันก็ยังมีประโยชน์ต่อสาธารณชนอีกด้วย กล่าวคือ ในเรื่องของการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานไร้ฝีมือ ถ้าราคาของเสบียงอาหารบางประเภทมีราคาที่สูงขึ้น จากสาเหตุที่ว่า มูลค่าของแร่เงินนั้นตกต่ำลง ในกรณีนี้ ค่าแรงของแรงงานไร้ฝีมือที่เดิมทีก็ได้รับค่าตอบแทนในจำนวนที่น้อยที่สุดในประเทศอยู่แล้ว ก็ควรจะได้รับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนเดียวกันกับมูลค่าของแร่เงินที่ตกต่ำลงไป เพราะถ้าไม่มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับพวกเขา จะส่งผลให้ค่าตอบแทนที่แท้จริงของพวกเขาลดน้อยลงไปเป็นอย่างมาก แต่ถ้าราคาของเสบียงอาหารบางประเภทมีราคาที่สูงขึ้น จากสาเหตุที่ว่า ผืนดินที่ใช้ในการผลิตเสบียงอาหารมีมูลค่าที่สูงขึ้น (ผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงผืนดิน) ในกรณีนี้ มันจะเป็นการดีกว่าที่เราจะมานั่งพิจารณากันว่าค่าแรงที่เป็นตัวเงินของแรงงานไร้ฝีมือเหล่านี้ควรที่จะเพิ่มขึ้นเท่าไร หรือ ไม่ควรที่จะเพิ่มขึ้นเลย...

เล่มที่ 2

II.2.14
ในทำนองเดียวกัน ทุนเงินตรา ตัวมันก็ไม่ได้สร้างรายได้ใด ๆ ขึ้นมาเลย เพราะมันทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพื่อกระจายรายได้ของสังคมให้ทั่วถึงไปยังสมาชิกทุก ๆ คนในสังคมก็เท่านั้น หากจะพูดให้เห็นภาพมากขึ้นคือ เงินตรามันก็เปรียบเสมือนกับล้อที่ใช้หมุนเวียนสินค้า ส่วนรายได้ของสังคมมันก็เปรียบเสมือนกับสินค้าที่วางอยู่บนล้อ ดังนั้น การที่เราจะคำนวณทั้งรายได้เบื้องต้น และรายได้สุทธิของสังคม เราจะต้องนำเอาเงินตราและสินค้าทั้งหมดที่หมุนเวียนอยู่ในรอบปีนั้น ๆ มาหักด้วยมูลค่าของเงินตราออกไป เพราะเงินตรามันไม่ได้เป็นตัวสร้างรายได้อะไรให้กับสังคมเลยแม้แต่ฟาร์ธิงเดียว

II.2.21
ดังนั้น การที่เราจะพูดถึงรายได้ต่อปีของคน ๆ หนึ่ง แม้ว่าเรามักจะพูดถึงจำนวนเหรียญโลหะที่เขาได้รับภายในปีนั้น ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่ได้ต้องการที่จะสื่อถึงจำนวนเหรียญโลหะของเขา การที่เราพูดถึงนั้นมันเป็นเพราะเหรียญโลหะที่เขามีอยู่ มันเป็นสิ่งที่ไปควบคุมขนาดของอำนาจซื้อของเขาอีกทีต่างหาก (power of purchasing) หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ มูลค่าของสินค้าทั้งหมดที่เขาสามารถบริโภคได้ภายในรอบปีนั้น ๆ นั่นเอง กล่าวโดยสรุปคือ รายได้ของเขานั้นจะอยู่ที่อำนาจซื้อหรืออำนาจในการบริโภค ไม่ใช่เหรียญโลหะที่เป็นเพียงสื่อกลาง

II.2.86
ถ้าธนาคารมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยการพิมพ์เงินกระดาษออกมาใช้แทนที่เงินตราที่ทำจากแร่ทองหรือแร่เงิน มันก็จะเป็นการแปลงทุนตายของประเทศให้กลายมาเป็นทุนทำงานและสร้างผลผลิตที่เกิดประโยชน์ให้กับประเทศได้ หรือหากจะอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นไปอีก คือ เงินตราที่ทำจากแร่ทองและแร่เงินที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศมันก็เปรียบได้กับทางหลวงที่อยู่บนผืนดิน (highway) ที่แม้ว่าตัวมันจะถูกนำไปใช้ในการหมุนเวียนขนส่งหญ้าและข้าวสาลีจากชนบทเข้าสู่ตลาดก็ตาม แต่ตัวมันเองกลับไม่สามารถนำไปผลิตทั้งหญ้าและข้าวสาลีได้เลย แต่ถ้าธนาคารมีการดำเนินการด้วยความรอบคอบ มันก็จะเปรียบเสมือนเป็นการสร้างทางรถม้าที่ลอยอยู่บนอากาศขึ้นมาเพื่อใช้ในการขนส่งหญ้าและข้าวสาลีแทนที่ทางหลวงที่อยู่บนผืนดิน มันก็จะทำให้ประเทศนั้น ๆ สามารถนำถนนหลวงจำนวนมากที่วางอยู่บนผืนดิน เปลี่ยนไปใช้เป็นพื้นที่ในการปลูกหญ้าและข้าวสาลีแทนได้ ซึ่งก็จะทำให้ผลผลิตรายปีจากผืนดินและแรงงานของประเทศนั้น ๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องตระหนักถึงคือ การใช้เงินกระดาษนี้แม้ว่ามันจะทำให้การค้าและอุตสาหกรรมของประเทศมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่มันก็ไม่ได้มาพร้อมกับความปลอดภัยเท่าไรนัก เพราะเงินกระดาษที่เปรียบได้กับทางรถม้าที่ลอยอยู่บนอากาศนั้น มันถูกทำให้ลอยได้ด้วยปีกที่สร้างขึ้นโดยดีดาลัส (Dædalian wings)  ซึ่งจะต่างกับการเดินทางบนพื้นดินที่มีความมั่นคงมากกว่า อย่างการใช้เงินตราที่ทำจากแร่ทองและแร่เงิน ไม่เพียงเท่านี้ การนำเงินกระดาษมาใช้มันก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุร้ายได้อีก จากการที่ผู้บริหารจัดการไม่มีทักษะที่มากเพียงพอ หรืออาจจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากสาเหตุอื่น ที่แม้ว่าผู้บริหารจัดการจะมีทักษะ แต่เขาเองก็ไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ได้

II.2.106
กล่าวโดยสรุป ถ้ามีการออกกฎหมายห้ามไม่ให้ธนาคารพิมพ์เงินกระดาษที่มีมูลค่าน้อย ๆ ออกมา และมีการบังคับให้ธนาคารยอมที่จะแปลงสภาพเงินกระดาษให้กลายเป็นเงินตราที่ทำจากโลหะมีค่าในทันทีที่ผู้ถือเงินกระดาษต้องการ มันก็จะทำให้การดำเนินธุรกิจของธนาคารมีความปลอดภัยต่อสาธารณชน ดังที่เราจะเห็นได้จากในช่วงหลัง ๆ ที่สหราชอาณาจักรเต็มไปด้วยธุรกิจธนาคารที่เพิ่มมากขึ้นนั้น แทนที่มันจะไปลดความปลอดภัยของสาธารณชนให้น้อยลง แต่มันยิ่งกลับเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้กับสาธารณชน เนื่องจากการแข่งขันอย่างเสรีของธนาคารต่าง ๆ จะเปรียบเสมือนเป็นสิ่งที่ไปบังคับให้แต่ละธนาคารต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ พวกเขาจึงพยายามที่จะไม่พิมพ์เงินกระดาษของตนเองออกมาในจำนวนที่มากกว่าเงินสดที่เขามี ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนแห่มาถอนเงินที่ธนาคาร เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว คู่แข่งจำนวนมากของเขาก็พร้อมที่จะคอยเล่นงานเขาอยู่ทุกเมื่อ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าการที่มีธนาคารในจำนวนมากเช่นนี้ มันจะเป็นการจำกัดการหมุนเวียนเงินตราของแต่ละธนาคาร ให้อยู่แค่ในวงจรแคบ ๆ โดยแต่ละธนาคารก็จะมีการพิมพ์เงินกระดาษออกมาในจำนวนที่น้อย ๆ เท่านั้น ไม่เพียงเท่านี้ ด้วยความที่วงจรหมุนเวียนเงินตรามันได้ถูกจำกัดให้เป็นวงจรเล็ก ๆ ในจำนวนมากเช่นนี้ ถ้ามีบริษัทธนาคารบริษัทใดบริษัทหนึ่งต้องล้มลงไป หรือเจอเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดฝันขึ้นมา มันก็จะส่งผลกระทบต่อสาธารณชนเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น และเหนือไปกว่าสิ่งอื่นใด การที่ธนาคารมีการแข่งขันอย่างเสรีนี้ มันจะเปรียบเสมือนเป็นการบังคับให้นายธนาคารต้องทำธุรกิจกับลูกค้าอย่างจริงใจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม มิเช่นนั้น คู่แข่งของเขาก็จะแย่งลูกค้าของเขาไปในทันที
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใด ๆ ก็ตาม หรือ แรงงานที่ประกอบอาชีพใด ๆ ก็ตาม ถ้ามีการแข่งขันอย่างเสรีเกิดขึ้นแล้ว โดยรวมมันก็ย่อมที่จะสร้างผลประโยชน์ให้แก่สังคม และยิ่งมีการแข่งขันกันมากขึ้นเท่าไร มันก็จะยิ่งดีต่อสังคมมากยิ่งขึ้นเท่านั้น


II.3.12
... เหมือนอย่างที่สุภาษิตได้กล่าวไว้ว่า การเล่นโดยไม่ได้อะไรย่อมดีกว่า การทำงานโดยไม่ได้อะไร ...

II.3.14 - II.3.16
ทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ (capitals) จะเพิ่มขึ้นจากความมัธยัสถ์ และจะลดลงจากความสุรุ่ยสุร่ายและความประพฤติที่ไม่ดี

อะไรก็ตามที่คน ๆ หนึ่งอดออมได้จากรายได้ของเขา มันจะทำให้เขามีทุนที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้น เขาก็จะสามารถนำทุนตรงนี้ไปลงทุนจ้างแรงงานผลิตได้เอง หรือ ให้คนอื่นลงทุนแทนได้ จากการที่เขาปล่อยเงินกู้ให้คนอื่นนำเงินไปลงทุนแทน และคิดดอกเบี้ยซึ่งเป็นส่วนแบ่งจากกำไรอีกที ดังนั้น ถ้าทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ของปัจเจกบุคคลสามารถเพิ่มขึ้นได้จากการอดออมรายได้รายปีของเขา ทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ของสังคมก็ต้องสามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วยวิธีการเดียวกัน เพราะทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ของสังคม มันประกอบขึ้นมาจากทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ของปัจเจกบุคคลทุก ๆ คนที่นำมารวมกัน

ความมัธยัสถ์เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลให้ผู้คนมีทุนที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในทันที ซึ่งความมัธยัสถ์นี้จะไม่เกี่ยวข้องกับความขยัน หากความขยันนั้นมาพร้อมกับความมัธยัสถ์ มันย่อมส่งผลให้ทุนที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่ผู้ใดที่มีความขยันเพียงอย่างเดียว แต่ขาดซึ่งความมัธยัสถ์ ผู้นั้นก็จะไม่สามารถเก็บสะสมทุนได้ และทุนที่เขามีก็จะไม่เพิ่มขึ้น

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ความมัธยัสถ์ จะทำให้ทุนที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อทุนที่ก่อให้เกิดรายได้มีมากขึ้น มันก็จะถูกส่งไปเลี้ยงดูแรงงานผลิตผู้ซึ่งใส่มูลค่าลงไปในวัตถุดิบได้ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น มันจะเป็นการไปเพิ่มมูลค่าในการแลกเปลี่ยนของผลผลิตจากผืนดินและแรงงานของประเทศให้มากยิ่งขึ้น กล่าวโดยสรุป ความมัธยัสถ์ มันจะไปขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตรายปีมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

II.3.31
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เมื่อเราสังเกตจากประสบการณ์ที่ผ่านมา จะพบว่าแทบจะทุกครั้ง ความมัธยัสถ์และการบริหารจัดการที่ดี มันสามารถที่จะไปชดเชยความเสียหายจากการที่ภาครัฐและเอกชนใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยและดำเนินการผิดพลาดได้ เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก ทุก ๆ คนมีความปรารถนาอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองดีขึ้น ซึ่งมันเป็นหลักการที่ทำให้ปัจเจกบุคคลมีความร่ำรวยเพิ่มมากขึ้น และหลักการนี้ก็ยังสามารถนำไปใช้กับสังคมและชาติได้เช่นกัน ด้วยความที่หลักการดังกล่าวมันทรงพลังมากพอ มันจึงทำให้ธรรมชาติของสรรพสิ่งยังคงสามารถดำเนินก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไม่หยุดยั้ง แม้ว่ารัฐบาลจะมีการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยหรือมีการบริหารจัดการที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงมากแค่ไหนก็ตาม หากจะพูดให้เห็นภาพ มันก็เปรียบได้กับกลไกร่างกายของสัตว์ซึ่งยังไม่เป็นที่ทราบกันดี ที่อยู่ ๆ พวกมันก็สามารถฟื้นฟูสภาพร่างกายและกำลังวังชาได้เอง หลังจากที่เจ็บไข้จากโรคภัย หรือหลังจากที่ได้รับการรักษาแบบผิด ๆ จากแพทย์

II.5.7
... ซึ่งมันก็อาจจะเปรียบได้กับกรณีของโรงเอล  ที่คนทั่วไปมักจะกล่าวหากันว่า โรงเอลเป็นตัวการที่ทำให้ผู้คนมึนเมาในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น มันเป็นเพราะผู้คนมีนิสัยชอบมึนเมาต่างหาก มันจึงทำให้มีคนมาลงทุนเปิดธุรกิจโรงเอลในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น

เล่มที่ 3

III.1.1
การค้าที่นับว่ามีความสำคัญมากที่สุดในทุก ๆ สังคมที่ศิวิไลซ์ นั่นก็คือ การค้าระหว่างประชากรในตัวเมืองกับประชากรในชนบท

III.1.8
ดังนั้น ตามลำดับธรรมชาติของสรรพสิ่ง เราจะเห็นได้ว่า เมื่อสังคมเติบโตขึ้น ลำดับแรกที่ทุนที่ก่อให้เกิดรายได้จะไหลไปหานั่นก็คือ การทำเกษตรกรรม (agriculture) ลำดับที่สองคือ ธุรกิจการผลิต (manufactures) และลำดับสุดท้ายคือ ธุรกิจการค้ากับต่างประเทศประเภทต่าง ๆ (foreign commerce) ซึ่งจากการที่ผมสังเกตมา ผมเชื่อว่านี่เป็นลำดับตามธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เราสามารถพบเจอได้ในทุก ๆ สังคมอยู่เสมอ กล่าวคือ ในประเทศ ๆ หนึ่ง มันจะต้องมีการเพาะปลูกบนพื้นที่จำนวนหนึ่งก่อน ถึงจะมีเมืองต่าง ๆ เกิดขึ้นตามมา และในตัวเมืองนั้น มันจะต้องมีการเปิดธุรกิจการผลิตงานหยาบ ๆ ประเภทต่าง ๆ เกิดขึ้นมาก่อน จากนั้นชาวเมืองถึงจะเริ่มคิดที่จะนำทุนไปลงทุนในธุรกิจการค้ากับต่างประเทศ

III.4.17
... และพวกเขายังยึดหลักการของพ่อค้าเร่ที่กล่าวไว้ด้วยว่า “เมื่อไรที่ได้เงินมา ให้นำเงินไปต่อเงิน” ...

III.4.24
แต่อย่างไรก็ตาม ทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ (capital) ที่ได้จากการค้าและการผลิตนั้น มันนับว่าเป็นสิ่งที่ไม่มั่นคงและไม่แน่นอน ไม่เหมือนกับทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ (capital) ที่ได้จากการปรับปรุงผืนดินและการเพาะปลูก ที่มีความมั่นคงและแน่นอนกว่า (secure and realized) หากจะอธิบายให้เห็นภาพคือ พ่อค้านั้น เขาไม่จำเป็นเลย ที่จะต้องเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะสำหรับตัวเขาแล้ว ไม่ว่าเขาจะทำธุรกิจอยู่ในประเทศไหน มันก็ไม่ได้แตกต่างกัน ขยายความคือ เมื่อไรก็ตาม ที่เขาทำธุรกิจ แล้วรู้สึกไม่ดีขึ้นมาเพียงเล็กน้อย เขาก็พร้อมที่จะถอนทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ของเขา (capital) พร้อมกับอุตสาหกรรมทั้งหลายที่ทุนเหล่านี้หล่อเลี้ยงอยู่ ออกไปจากประเทศแล้วย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นได้ทันที ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า ทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ของพ่อค้า จึงไม่ถูกจัดเป็นทุนของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ เว้นเสียแต่ว่า ทุนดังกล่าวจะถูกลงทุนไปในผืนดินของประเทศนั้น ๆ ในรูปของสิ่งปลูกสร้าง หรือ การปรับปรุงผืนดินที่มีความคงทนอยู่ยาวนาน

เล่มที่ 4

IV.1.18
ถึงแม้ว่าสินค้าจะไม่สามารถนำไปแลกกับเงินได้ในทุกโอกาส เหมือนกับที่เงินสามารถนำไปแลกกับสินค้าได้ แต่ในระยะยาวแล้ว สินค้านั้นย่อมสามารถดึงเงิน ได้มากกว่าที่เงินจะสามารถไปดึงสินค้า เพราะสินค้าสามารถนำไปใช้อรรถประโยชน์ได้หลายอย่าง นอกเหนือจากที่จะนำมันไปซื้อเงิน แต่เงินไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้เลย นอกจากการนำไปซื้อสินค้า ดังนั้น เงินย่อมต้องถูกนำไปไล่ซื้อสินค้า แต่สินค้านั้นไม่จำเป็นที่จะต้องนำไปไล่ซื้อเงินเสมอไป หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ เมื่อชายคนหนึ่งนำเงินไปซื้อสินค้า มันไม่ได้หมายความว่า เขาจะนำสินค้าชิ้นนั้นมาขายซ้ำ แต่บ่อยครั้งเขามักจะนำสินค้าชิ้นนั้นไปใช้สอยหรือนำมันไปบริโภค ในขณะที่พ่อค้าคนหนึ่งที่ทำการขายสินค้า เพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน มันหมายความว่า เขาจะต้องนำเงินที่ได้ ไปทำการซื้อสินค้าซ้ำอีก เราจะเห็นได้ว่า ทั้งชายคนนี้และพ่อค้าคนนี้เขาไม่ได้ต้องการอรรถประโยชน์ของเงินเลย แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ อรรถประโยชน์ของสิ่งที่เงินสามารถซื้อมาได้ต่างหาก

IV.2.9
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า รายได้รายปีของทุก ๆ สังคมนั้น มีค่าเท่ากับ มูลค่าในการแลกเปลี่ยนของผลผลิตรายปีทั้งหมดที่เกิดจากอุตสาหกรรมในสังคม ดังนั้น การที่ปัจเจกบุคคลทุกคน นำทุนของเขาไปลงทุนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ แล้วทำการบริหารจัดการอุตสาหกรรมของเขาให้มันสามารถผลิตสินค้าออกมาได้มูลค่าที่สูงที่สุดเช่นนี้ จึงดูเหมือนว่า ปัจเจกบุคคลทุก ๆ คนกำลังพยายามที่จะสร้างรายได้รายปีให้กับสังคมให้มากที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วนั้น พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างประโยชน์อะไรให้แก่สังคมเลย และพวกเขาก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสิ่งที่พวกเขาทำ มันสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมมากเพียงใด เนื่องจาก เหตุผลที่เขาชอบที่จะลงทุนกับอุตสาหกรรมในประเทศมากกว่าอุตสาหกรรมต่างประเทศ ก็เพราะเขาต้องการดูแลทุนของเขาอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยในทุนของเขาเอง ส่วนเหตุผลที่เขาทำการบริหารจัดการอุตสาหกรรมของเขาให้มันสามารถผลิตสินค้าออกมาได้มูลค่าที่สูงที่สุดนั้น ก็เพราะผลประโยชน์ส่วนตนของเขาเองอีกเช่นกัน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามันไม่มีเหตุผลส่วนไหนเลยที่เขาตั้งใจทำไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม หากจะว่าไปแล้ว เหตุการณ์นี้มันก็เหมือนกับกรณีอื่น ๆ อีกหลายกรณี ที่เขาได้ถูกมือที่มองไม่เห็น (invisible hand) นำพาให้เขาสร้างประโยชน์ให้กับสังคม โดยที่พวกเขาไม่ได้ตั้งใจไว้เลย แต่อย่างไรก็ตาม การที่เขาไม่ได้สนใจเรื่องผลประโยชน์ของสังคม มันก็ไม่ได้ทำให้สังคมแย่เสมอไป เพราะแม้ว่าเขาจะทำทุกอย่างเพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่สุดท้ายมันกลับมอบผลประโยชน์ให้แก่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เขาตั้งใจเสียอีก ผมยังไม่เคยเห็นใครที่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมได้ด้วยการเสแสร้งว่าตนทำการค้าขายเพื่อผลประโยชน์แก่สาธารณะเลย ซึ่งการเสแสร้งเช่นนี้จะพบได้น้อยมากในหมู่พ่อค้า และการโน้มน้าวให้พวกเขาเลิกเสแสร้ง เราก็แทบจะไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมากมายนัก

IV.3.44 - IV.3.46
ที่จริงแล้ว นอกเหนือไปจากนี้ มันยังมีอีกสมดุลหนึ่งที่ผมได้เคยกล่าวถึงไปแล้วในเล่มก่อน ๆ  แต่มันจะมีความแตกต่างไปจากสมดุลการค้าเป็นอย่างมาก สมดุลดังกล่าวนั่นก็คือ สมดุลของการผลิตและการบริโภคในรอบหนึ่งปี (balance of the annual produce and consumption) ซึ่งการที่สมดุลนี้ได้ดุล (favourable) หรือ ขาดดุล (unfavourable) นั้น มันจะส่งผลต่อความรุ่งเรืองหรือความตกต่ำของทุก ๆ ชาติได้อย่างแท้จริง อย่างที่เราได้เคยทำการสังเกตไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้ามูลค่าในการแลกเปลี่ยนของผลผลิตรายปีนั้น สูงกว่ามูลค่าของการบริโภครายปี ทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ของสังคมในปีนั้น ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกับส่วนที่เกินดุลมานี้ เราจะเห็นได้ว่า ในกรณีดังกล่าว สังคมใช้จ่ายน้อยกว่าที่หามาได้ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว เงินออมที่สังคมได้มาจากรายได้ส่วนเกินตรงนี้ มันก็จะกลายไปเป็นทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น และนำไปสู่การลงทุนซ้ำ เพื่อที่จะทำให้ปีถัดไปมีการผลิตผลผลิตรายปีออกมาได้ในจำนวนที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่ในทางกลับกัน ถ้ามูลค่าในการแลกเปลี่ยนของผลผลิตรายปีนั้น น้อยกว่ามูลค่าของการบริโภครายปี ทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ของสังคมในปีนั้น ๆ ก็จะหดลงตามจำนวนที่ได้ขาดดุลไป เราจะเห็นได้ว่า ในกรณีดังกล่าว สังคมใช้จ่ายมากกว่าที่หามาได้ ดังนั้น รายจ่ายที่เกินมานี้ มันก็ย่อมที่จะไปกินทุนที่ก่อให้เกิดรายได้ ให้มันหดเล็กลงกว่าเดิม และเมื่อทุนที่ก่อให้เกิดรายได้มีจำนวนที่น้อยลง มันก็ย่อมที่จะทำให้มูลค่าในการแลกเปลี่ยนของผลผลิตรายปีในปีถัดไปมีมูลค่าที่ลดน้อยลง
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า สมดุลของการผลิตและการบริโภคนั้น (balance of produce and consumption) มันจะแตกต่างไปจากสิ่งที่เรียกว่าสมดุลทางการค้า (balance of trade) โดยสมดุลของการผลิตและการบริโภคนี้ จะสามารถนำไปใช้ได้กับชาติที่ไม่มีการค้ากับต่างประเทศ หรือแม้กระทั่ง ชาติที่ถูกตัดขาดออกจากส่วนอื่น ๆ ของโลกได้อีกด้วย หรือเราอาจกล่าวได้ว่า สมดุลนี้มันสามารถนำไปใช้ได้กับทั่วทั้งโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งสมดุลนี้มันจะถูกนำไปใช้เพื่อดูความมั่งคั่ง, จำนวนประชากร, และความเจริญของที่นั้น ๆ ว่ามันกำลังค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น หรือ กำลังค่อย ๆ เสื่อมถอยลง
ในประเทศใดก็ตาม หากสมดุลของการผลิตและการบริโภคอยู่ในสถานะได้ดุล (favour) แต่สมดุลการค้าอยู่ในสถานะขาดดุล (against) ประเทศนั้น ๆ ก็อาจจะยังคงสามารถนำเข้าสินค้าในมูลค่าที่มากกว่าการส่งออก ได้อย่างต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลานานถึง 50 ปี ในขณะที่แร่ทองและแร่เงินของประเทศ ก็แทบจะไหลออกไปในทันทีที่ได้มา ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป เหรียญโลหะมีค่าที่หมุนเวียนอยู่ในประเทศก็ค่อย ๆ สึกหรอลงไปเรื่อย ๆ จนอาจจะเป็นเหตุให้ประเทศนั้น ๆ ต้องใช้เงินกระดาษเข้ามาทดแทนเหรียญโลหะมีค่า ไม่เพียงเท่านี้ ประเทศนั้น ๆ ก็อาจจะมีการติดหนี้กับประเทศคู่ค้าในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งที่แท้จริงของประเทศดังกล่าว หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ มูลค่าในการแลกเปลี่ยนของผลผลิตรายปีจากผืนดินและแรงงานของประเทศดังกล่าวในสภาพการณ์เช่นนี้ มันจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าเป็นอย่างมาก ดังที่เราจะเห็นได้จาก รูปแบบพัฒนาการของ อาณานิคมอเมริกาเหนือ และการค้าที่อาณานิคมอเมริกาเหนือกระทำกับบริเตนใหญ่ (ในช่วงเวลาก่อนที่จะเกิดความไม่สงบในอาณานิคมอเมริกาเหนือ ) ซึ่งนี่เป็นหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ถึงสิ่งที่ผมกำลังกล่าวมาทั้งหมด

IV.5.32
การอุดหนุนจากภาครัฐในการจับปลาโดยอิงจากระวางบรรทุกเช่นนี้ (tonnage bounty) มันเป็นการให้เงินอุดหนุนโดยดูจากขนาดระวางบรรทุกของเรือ ไม่ได้ดูจากความขยันหรือความสำเร็จในการจับปลา ซึ่งผมเกรงว่ามันจะมีเจ้าของเรือลำใหญ่หลายลำพากันเข้ามาจับ แต่คงมิใช่การจับปลา แต่ทว่าจะพากันเข้ามาจับเงินอุดหนุนเสียมากกว่า

IV.5.55
อย่างที่สุภาษิตได้กล่าวไว้ว่า “คนที่รู้อย่างเป็ด (Jack of all trades) ไม่มีทางรวย”

IV.5.82
โดยธรรมชาติแล้ว ถ้าปัจเจกบุคคลได้รับเสรีภาพและความปลอดภัย พวกเขาก็มักจะพยายามทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนดีขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งนี่คือหลักการที่ทรงพลังเป็นอย่างมาก ขอเพียงแค่มีหลักการข้อนี้เพียงข้อเดียว ไม่จำเป็นต้องมีหลักการอื่น ๆ มาช่วยเหลือ มันก็สามารถนำพาสังคมให้มุ่งไปสู่ความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองได้มากแล้ว อีกทั้งมันยังสามารถก้าวข้ามอุปสรรคนานับประการ ที่เกิดจากกฎหมายของมนุษย์ผู้โง่เขลาที่มักจะไปขัดขวางความเจริญได้ แม้ว่าผลลัพธ์จากกฎหมายเหล่านี้มันจะไปเบียดเบียนเสรีภาพหรือไปลดความปลอดภัยอยู่บ้างก็ตาม

IV.7.33
ซึ่งรัฐบาลที่มาจากบริษัทที่ได้สิทธิพิเศษของพ่อค้าเช่นนี้ มันถือได้ว่าเป็นรัฐบาลที่แย่ที่สุดของทุกประเทศเลยก็ว่าได้

IV.7.86
ดังนั้น คำถามที่ว่า นโยบายของยุโรปมีส่วนช่วยทำให้การก่อตั้งอาณานิคมในอเมริกาประสบผลสำเร็จใช่หรือไม่? หรือ ความยิ่งใหญ่ของอาณานิคมอเมริกาในทุกวันนี้เกิดจากนโยบายของยุโรปใช่หรือไม่? คำตอบก็คือ นโยบายของยุโรปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ การเป็น Magna virûm Mater!  ที่ช่วยสร้างและหล่อหลอมผู้คนให้มีความมุมานะจนสามารถดำเนินงานใหญ่ได้สำเร็จ รวมไปถึงสามารถสร้างรากฐานให้แก่อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ได้ ซึ่งไม่มีที่ใดในโลก ที่จะมีนโยบายที่ช่วยสร้างและหล่อหลอมคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ขึ้นมาได้ ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า อาณานิคมติดหนี้บุญคุณจากประเทศแม่เพียงแค่เรื่องเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ การที่นโยบายของยุโรปได้มอบการศึกษาและวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ให้แก่บรรดาผู้ก่อตั้งอาณานิคม ผู้ซึ่งขยันขันแข็งและกล้าได้กล้าเสียเหล่านี้

IV.7.140
ประเทศอังกฤษ มีระบบกระบวนการยุติธรรม (administration of justice) ที่เที่ยงธรรม (equal) และไม่ลำเอียง (impartial) แม้แต่พลเมืองชาวบริติชที่ยากจนที่สุด ก็ยังได้รับความเคารพในเรื่องของสิทธิเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผลประโยชน์ที่เกิดจากความขยันของประชาชนทุก ๆ คน ได้รับความคุ้มครองเป็นอย่างดี ซึ่งนี่นับว่าเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมทุกประเภทของอังกฤษได้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงสุดเลยก็ว่าได้

IV.7.147
... ซึ่งมันเป็นไปดังเช่นสุภาษิตที่ว่า อะไรที่มาเร็ว ก็มักจะไปเร็วเสมอ ...

IV.8.49
จุดประสงค์หลักจุดประสงค์เดียวของการผลิต นั่นก็คือ เพื่อสนองการบริโภคต่างหาก ดังนั้น สิ่งเดียวที่ผู้ผลิตควรจะต้องทำก็คือ การส่งเสริมให้ผู้บริโภคเกิดการบริโภคมากขึ้น ซึ่งมันเป็นผลประโยชน์ส่วนตนของผู้ผลิตเองที่ควรจะต้องสนใจในเรื่องนี้ โดยหลักการดังกล่าว มันชัดเจนในตัวของมันเองอยู่แล้ว และไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องไปพยายามพิสูจน์มัน แต่ในทางตรงกันข้าม หลักการของระบบพาณิชย์นิยมนั้น ผู้บริโภคกลับต้องเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนให้กับผู้ผลิตแทน และดูเหมือนว่าวัตถุประสงค์ของอุตสาหกรรมและการค้าในระบบพาณิชย์นิยม จะมุ่งเน้นไปที่การผลิต ไม่ใช่การบริโภคเลยแม้แต่น้อย

IV.9.4
ส่วนในอีกด้านหนึ่งนั้น มีสุภาษิตเคยกล่าวไว้ว่า เมื่อใดที่ท่อนไม้ มันงอไปด้านหนึ่งมากเกินไป การที่จะทำให้มันกลับมาตรงได้เหมือนเดิมนั้น คุณจะต้องดัดมันกลับมาให้มากกว่าเดิม ซึ่งดูเหมือนว่า จะมีนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสนำแนวคิดของสุภาษิตดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ เขาจึงได้เสนอระบบหนึ่งที่มีหลักการว่า การทำเกษตรกรรมเป็นแหล่งกำเนิดเพียงแหล่งเดียวที่จะนำมาซึ่งรายได้และความมั่งคั่งของทุกประเทศ โดยหลักการที่ว่านี้จะตรงกันข้ามกับหลักการของมร.กอลแบร์ที่ให้มูลค่ากับอุตสาหกรรมในตัวเมืองมากเกินไป และให้มูลค่ากับอุตสาหกรรมในชนบทน้อยเกินไปนั่นเอง

IV.9.37 - IV.9.38
... ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานของระบบเกษตรนิยมที่ว่าไว้เลย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าระบบนี้จะมีความไม่สมบูรณ์ดังที่ได้แสดงให้เห็นแล้วในข้างต้น แต่ระบบดังกล่าว ก็เรียกได้ว่ามีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงเกี่ยวกับแนวคิดทางเศรษฐกิจการเมืองมากที่สุดเท่าที่เคยมีการตีพิมพ์มาก็ว่าได้ ฉะนั้น มันจึงคุ้มค่าสำหรับผู้ที่สนใจและปรารถนาที่จะวิเคราะห์ (examine) เกี่ยวกับหลักการของศาสตร์ (science) ที่สำคัญนี้ และแม้ว่าระบบดังกล่าว จะอธิบายว่าแรงงานที่ถูกจ้างงานบนผืนดินเท่านั้น ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นแรงงานผลิต, หรือแม้ว่ามันจะเต็มไปด้วยแนวคิดต่าง ๆ ที่ทั้งแคบและมีขอบเขตที่จำกัดก็ตาม แต่สิ่งหนึ่ง ที่ระบบนี้ได้นำเสนอไว้อย่างชัดเจนก็คือ ความมั่งคั่งของประชาชาติ (wealth of nations) นั้น มันมิได้เกิดจากการสะสมเงินตราจำนวนมากซึ่งนำไปบริโภคไม่ได้ แต่มันเกิดจากการเพิ่มพูนของสินค้าที่บริโภคได้ที่ถูกผลิตขึ้นซ้ำ ๆ กันในทุกปี โดยแรงงานของสังคมนั้น ๆ ไม่เพียงเท่านี้ มันยังอธิบายด้วยว่า การที่มีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ ถือได้ว่าเป็นวิธีการเดียวที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ที่จะทำให้เกิดการผลิตรายปีในจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เล่มที่ 5

V.1.45
เมื่อผู้หนึ่งมีทรัพย์สินมากกว่าผู้อื่น มันก็ย่อมมีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น เช่น เมื่อมีคนร่ำรวย 1 คน มันก็ย่อมที่จะมีคนยากจนอย่างน้อย 500 คน

V.1.63
การให้บริการแก่สาธารณะ (Public services) นั้น ไม่เคยให้บริการได้ดีเลย เว้นเสียแต่ว่าจะมีรางวัลมอบให้แก่เขาภายหลังจากที่เขาได้ให้บริการไปแล้ว โดยรางวัลนี้ก็จะต้องเป็นสัดส่วนเดียวกับความขยันที่พวกเขากระทำงานนั้น ๆ

V.1.143
กฎระเบียบของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของนักเรียน แต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของครู หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือเพื่อทำให้ครูสอนได้ง่าย

V.1.203
วิทยาศาสตร์เป็นยาถอนพิษที่ดีที่สุดที่ใช้ในการถอนพิษที่เกิดจากความศรัทธาอย่างแรงกล้า (enthusiasm) และไสยศาสตร์ (superstition)

V.2.91
ที่ดินนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนได้ แต่ทุนนั้นสามารถเคลื่อนย้ายไปได้อย่างง่ายดาย ขยายความคือ เจ้าของที่ดินนั้น จะต้องเป็นพลเมืองในชาตินั้น ๆ ส่วนเจ้าของทุนนั้นเป็นพลเมืองของโลกทั้งใบ และเขาไม่ได้ผูกติดอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่ง ถ้าเขาถูกการสืบสวนที่สร้างความวุ่นวายเพื่อจะทำการประเมินภาษีเขา เจ้าของทุนสามารถย้ายทุนหนีออกจากประเทศนั้น ไปยังประเทศอื่นที่เขาสามารถทำธุรกิจได้ทันที หรือ เขาอาจจะถอนทุนออกเพื่อนำไปใช้เสวยสุขของเขาเองก็ได้ เมื่อเจ้าของทุนถอนทุนออกไปแล้ว นั่นหมายความว่า ทุนนั้นจะยุติที่จะหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมภายในประเทศนั้นไปเลย ขยายความคือ ทุนนั้นทำให้ผืนดินมีการเพาะปลูก; ทุนนั้นถูกนำไปใช้ในการจ้างแรงงาน ดังนั้น การเก็บภาษีแบบใดก็ตามที่มีแนวโน้มที่จะไล่ทุนออกไปจากประเทศ ท้ายที่สุดมันก็จะทำให้แหล่งรายได้ทุกแหล่งของทั้งผู้ปกครองประเทศและของสังคมนั้น เหือดแห้งลงไปทั้งหมด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้านายทุนมีการถอนทุนออกไปนั้น มันจะทำให้แหล่งรายได้ที่เกิดจากกำไรของทุน, ค่าเช่าจากที่ดิน และค่าแรงของแรงงานเหือดแห้งลงไปไม่มากก็น้อย

V.2.124
ไม่มีศาสตร์ใดอีกแล้วที่รัฐบาลของรัฐหนึ่ง สามารถเรียนรู้จากรัฐบาลของอีกรัฐหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว นั่นก็คือ ศาสตร์ในการล้วงเงินออกจากกระเป๋าสตางค์ของประชาชน

V.2.148
สินค้าอุปโภคบริโภค (consumable commodities) สามารถแบ่งออกได้เป็น สินค้าจำเป็น (necessaries) กับ สินค้าฟุ่มเฟือย (luxuries)
คำว่าสินค้าจำเป็นตามความเข้าใจของผมนั้น คือ สินค้าที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต รวมไปถึง สินค้าที่จำเป็นต่อมาตรฐานการครองชีพตามขนบธรรมเนียมของประเทศนั้น  ถ้าขาดสินค้านี้ไปจะทำให้เกิดความไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นคนที่น่าเชื่อถือหรือเป็นชนชั้นล่างที่สุดก็ตาม ตัวอย่างเช่น เสื้อที่ทำจากลินินนั้น เป็นของที่ไม่จำเป็นสำหรับชีวิต อย่างเช่นชาวกรีกและชาวโรมันก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยที่ไม่มีเสื้อผ้าทำจากลินิน แต่ในยุโรปยุคปัจจุบันนี้ ถ้าแรงงานที่รับค่าจ้างรายวันไม่มีเสื้อลินินใส่ มันจะถือเป็นเรื่องที่น่าอับอายเป็นอย่างมาก เพราะถ้าใครไม่มีเสื้อลินินใส่จะเป็นการแสดงว่าเขานั้นยากจนเป็นอย่างมาก หรืออย่างรองเท้าที่ทำจากหนัง ก็ถือว่าเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตในอังกฤษ ก็เพราะขนบธรรมเนียมในอังกฤษ (custom) ถือว่าคนที่มีความน่าเชื่อถือที่ยากจนที่สุด (poorest creditable person) ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือหญิงก็ตาม ถ้าเขาออกมานอกบ้านโดยไม่สวมรองเท้าหนัง มันจะถือเป็นเรื่องที่น่าอับอายเป็นอย่างมาก ส่วนขนบธรรมเนียมในสกอตแลนด์ ได้อนุญาตให้ผู้ชายชนชั้นล่างที่สุด (ยกเว้นผู้หญิง) สามารถเดินเท้าเปล่าได้โดยที่ไม่ทำให้ขายหน้าแต่อย่างใด ส่วนขนบธรรมเนียมในฝรั่งเศส ขนบธรรมเนียมได้ทำให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถใส่รองเท้าที่ทำจากไม้ หรือ เดินเท้าเปล่าได้โดยที่ไม่ทำให้ขายหน้าแต่อย่างใด ดังนั้น คำว่า “สินค้าจำเป็น” ที่ผมเข้าใจ ไม่ได้หมายถึงความจำเป็นในการดำรงชีวิตตามธรรมชาติ แต่หมายถึง ความจำเป็นที่เป็นไปตามกฎของความเหมาะสมของสังคมนั้น ซึ่งได้กำหนดความจำเป็นขั้นต่ำสำหรับผู้คนชนชั้นล่างสุด สิ่งที่นอกเหนือไปจากนี้ ผมจะเรียกว่า “สินค้าฟุ่มเฟือย” ซึ่งคำว่าฟุ่มเฟือยนี้ ไม่ได้มีความหมายในเชิงตำหนิ ตัวอย่างเช่น ในบริเตนใหญ่ ผมจะเรียกเบียร์และเอลว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย หรือแม้แต่ในประเทศที่ผลิตไวน์ก็ตาม  ผมจะเรียกไวน์ว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เหตุผลคือ ไม่ว่าผู้คนจากชนชั้นใดก็ตามที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหล่านี้ เขาก็ไม่ได้ถูกสังคมตำหนิใด ๆ ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า สิ่งของเหล่านี้มันก็ไม่ได้มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่แล้ว และขนบธรรมเนียมก็ไม่ได้ถือว่าไม่สุภาพ ถ้าผู้คนใช้ชีวิตโดยปราศจากมัน

V.2.163
... ดังเช่นคำกล่าวที่ว่าประหยัดได้หนึ่งเพนนี เท่ากับหาเงินได้หนึ่งเพนนี ...

V.2.172
ส่วนการเก็บภาษีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศหลาย ๆ ชนิดในอัตราที่สูง เพื่อที่จะไปลดแรงจูงใจไม่ให้มีการบริโภคสินค้าเหล่านี้ในบริเตนใหญ่นั้น ในหลาย ๆ กรณีที่ทำ ๆ กันไปนั้น มันกลับกลายเป็นเพียงแค่เป็นการส่งเสริมให้เกิดการค้าของเถื่อนเกิดขึ้น (smuggling) และในทุก ๆ กรณี มันยังไปลดรายได้ที่ได้จากการเก็บภาษีศุลกากร (revenue of the customs) ลงอีกด้วย โดยรัฐจะได้รายได้น้อยกว่าในกรณีที่รัฐทำการเก็บภาษีในอัตราปานกลางเสียอีก  มันก็เหมือนอย่างที่ดร.สวิฟท์ ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า ในวิชาคณิตศาสตร์สำหรับนักศุลกากรแล้ว เมื่อนำเอา 2 มาบวกกับ 2 แทนที่จะได้ 4 ในบางครั้งมันกลับได้แค่ 1 ยิ่งถ้ารัฐทำการเก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่สูงมากแล้ว คำกล่าวของดร.สวิฟท์นี้จะกลายเป็นจริงโดยสมบูรณ์เลยทีเดียว ที่มันเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าระบบพาณิชย์นิยมได้สอนพวกเราไว้ว่า เราควรที่จะใช้การเก็บภาษีเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้เกิดการผูกขาดการค้า ไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้ในการสร้างรายได้ให้แก่รัฐ

V.3.92
เมื่อครั้งอดีต เป็นเวลานานกว่าศตวรรษกว่า ๆ แล้ว ผู้ปกครองบริเตนใหญ่ได้สร้างฝันให้กับผู้คนว่าพวกเขากำลังครอบครองจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ที่ฟากฝั่งทางตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก  อย่างไรก็ตาม มันก็ยังคงเป็นความเพ้อฝันมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะจนถึงทุกวันนี้ มันไม่ได้เป็นจักรวรรดิ แต่มันเป็นเพียงแค่โครงการหนึ่งของจักรวรรดิ; มันไม่ใช่เหมืองทอง แต่มันเป็นโครงการที่จะทำเหมืองทอง; ซึ่งโครงการเหล่านี้มันมีต้นทุน และต้นทุนมันก็ได้บานปลายออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งถ้ายังคงดำเนินโครงการเหล่านี้ในลักษณะเดียวกับที่เคยทำ ๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ มันก็ย่อมที่จะสร้างค่าใช้จ่ายก้อนมหึมา โดยที่มันไม่ได้สร้างกำไรให้เลย อย่างที่เราได้แสดงให้เห็นไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ผลจากการผูกขาดการค้ากับอาณานิคมนั้น มันทำให้ประชาชนจำนวนมากขาดทุน มากกว่าที่จะได้กำไร มันถึงเวลาแล้วที่ผู้ปกครองบริเตนใหญ่จะต้องรู้ตัวเสียทีว่าเขาและประชาชนกำลังฝันหวานกันอยู่ ดังนั้น เขาควรที่จะตื่นจากความฝันนี้ และควรพยายามปลุกประชาชนให้ตื่นจากความฝันนี้ด้วยเช่นกัน ถ้าโครงการที่วางไว้มันไม่ประสบผลสำเร็จ มันก็ควรที่จะล้มเลิกโครงการนั้นไปเสีย ถ้าจังหวัดของจักรวรรดิบริติชไม่สามารถสนับสนุนรายได้หรือกำลังทหารให้กับจักรวรรดิทั้งหมด มันก็ถึงเวลาแล้วที่บริเตนใหญ่ก็ควรที่จะปลดเปลื้องภาระค่าใช้จ่ายในการป้องกันจังหวัดเหล่านั้นในยามสงคราม และค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนหรือกำลังทหารของจังหวัดเหล่านั้นในยามสันติ และจักรวรรดิบริติชก็ควรพยายามที่จะปรับมุมมองและแผนการในอนาคตให้เหมาะกับเหตุการณ์ตามความเป็นจริง

บทความที่เกี่ยวข้อง

หนังสือความมั่งคั่งของประชาชาติ (The Wealth of Nations) ฉบับแปลไทย

Demikianlah artikel yang berjudul คำคมของอดัม สมิธ (Adam Smith Quotes)

Terima kasih telah membaca artikel คำคมของอดัม สมิธ (Adam Smith Quotes), semoga dapat memberi manfaat untuk sahabat semua. Akhir kata, sampai jumpa di postingan artikel lainnya. Wassalamu'alaikum Warohmatullahi Wabarokatuh.

Sahabat telah membaca artikel berjudul คำคมของอดัม สมิธ (Adam Smith Quotes) dengan alamat link https://wirasnews.blogspot.com/2016/08/adam-smith-quotes.html
Advertisement